วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จะรักเธอทุกชาติ......ทุกกัปกัลป์

            ความรักเป็นความรู้สึกที่งดงาม ควรค่าแก่ผู้รู้จักรัก และถนอมไว้ในหัวใจตลอดไป แต่ปัจจุบันในยุคที่ผู้คนจำนวนมากให้ค่าความสำคัญต่อวัตถุ เห็น ความชั่ว - ความร้ายในหัวใจเป็นสิ่งธรรมดา ทำให้ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า ท่วงทำนอง น้ำถ้อย
น้ำเสียง รอยยิ้ม ความรู้สึก และรสสัมผัสของหัวใจที่ทรงคุณค่า สิ่งอันอบอวนหอมละมุนเหล่านี้ ผู้คนยังซาบซึ้งกันอยู่หรือเปล่า
          จากบทความครั้งที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงรักแท้รักเทียม  ซึ่งถือว่าบทความเรื่องนั้นจบตอนในเนื้อหาไปแล้ว แต่หากจะกล่าวว่าบทความเรื่อง "จะรักเธอทุกชาติ ทุกกัปกัลป์" คือบทความเรื่อง "รักแท้รักเทียมภาค 2" ก็สามารถกล่าวเช่นนั้นได้เพราะผู้เขียนได้นำเสนอความรักแท้ - ความรักเทียมลงในรายละเอียดบางประการ
          หากมองด้วยทัศนะทางพระพุทธศาสนา ความรักฉันคนรัก ความรักฉันสามีภรรยาเป็นความรักเทียม เพราะเป็นความรักที่เกิดจากตัณหาราคะ มุ่งหวังจะครอบครองเป้นเจ้าของอีฝ่าย แต่ในทางพระพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธความรักลักษณะนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเราสามารถที่จะเพิ่มคุณค่าของความรักด้วยความดีงามต่างๆ ของหัวใจ หรือพูดอีกนัยหนึ่งเป็นการปลูกรักแท้ให้เจริญเติบโตในรักเทียมจนกลายเป็นรักแท้ในที่สุด
          ผู้เขียนขอยกบทกวีต่างๆ ที่ได้แต่งไว้ในโอกาสเวลาต่างๆกัน เดิมแต่ละบทป็นอิสระจากกัน แต่ผู้เขียนได้คัดสรรมาเรียงร้อยเสมือนเป็นบทกวีเรื่องเดียวกัน เพื่อแสดงตัวอย่างตำนานของหัวใจอันงดงาม สาเหตุที่ผู้เขียนยกบทกวีมาประกอบในบทความเรื่องนี้เพราะตระหนักว่า การแสดงออกด้านอารมณ์ ความรู้สึกโดยเฉพาะอย่ายิ่งในเรื่องของความรักแล้ว บทกวีเป็นผู้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดดังจะได้นำเสนอโดยลำดับดังนี้(46)
                
                     ทั้งชาตินี้ชาติหน้าขอสัตย์ซื่อ    เราต่างคือคนรักกันมีเพียงสอง
               ต่างรอกันมิให้ใครหมายปอง          ทุกชาติจองเป็นรักแรกรักสุดท้าย
        
          ในบทกวีบทแรกที่ผู้เขียนยกมา ผู้เขียนต้องการจะสื่อให้เห็นว่า ความรักต้องการความซื่อสัตย์ ต้องการความมั่นคงในความรักระหว่างกัน ทุกภพชาติที่เกิดมาขอหมายปองเป็นเจ้าของหัวใจเพียงหนึ่งเดียว ไม่ต้องการใครอื่นนอกจากสองเรา
                  
                     แรกเคยรัก "แก้ว" มั่นว่ามากแล้ว     วันนี้แววแห่งรักยิ่งมากกว่า
               และจะรักยิ่งมากตามวันและเวลา            จักคู่ฟ้าคงดินไม่สิ้นเลยฯ

          ในบทกวีบทที่สอง เป็นการกล่าวให้ทราบว่า เมื่อแรกรักก็ว่ารักมากแล้ว แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความรักยิ่งมากล้ำ
ตามวันเวลา และในความรู้สึกของเขาซึ่งจะกลายเป็นความจริงในอนาคตอันไกลโพ้น คือความรักของเขาจักอยู่มั่นคงคู่ฟ้าดิน อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ความรักของเขาเพิ่มทวีมากขึ้น ตามวันเวลา เป็นธรรมดาของมนุษย์ย่อมต้องการความรัก ความปรารถนาดี การปฏิบัติที่ดีต่อกัน ไม่เอาเปรียบกัน ไม่ทำร้ายรังแกกัน แต่ดูแลปรนนิบัติรับใช้หัวใจของกันและกัน การปฏิบัติต่อกัน ด้วยความดีเช่นนี้ ทำให้ความรักเพิ่มล้นทวีตามวันเวลา

                    พี่รัก "แก้ว" เพราะ "แก้ว" พี่เป็น "แก้ว"    งามเพริดแพร้วสำหรับพี่แม้หลับฝัน
               พี่มี "แก้ว" เพียงหนึ่งค่าอนันต์                      ทุกกัปกัลป์ขอมี "แก้ว" เพียงหนึ่งดวงฯ
         
          บทกวีบทที่ 3 ช่วยเพิ่มความงาม ความรู้สึกของหัวใจให้เด่นชัดขึ้น ความดีงามของเธอทำให้เขาเห็นคุณค่าว่าเธอเป็นสิ่งที่สูงค่ายิ่ง แม้ในยามที่เขานอนหลับ เขายังฝันถึงความดีงาม กวีใช้คำว่า "แก้ว" แทนนางอันเป็นที่รัก เพื่อแสดงให้เห็นความสูงค่าล้ำจนหัวใจของเขาปักใจไว้มั่นคงต่อนางเพียงผู้เดียว แม้เวลาผ่านไปนานกี่กัปกัลป์ก็ตาม

                    อยากจูบแก้มสักวันละพันหน     ฝังเอาหอมด่ำกมลอวสาน
               เป็นพยานนิรันดร์รักทุกกัปกาล        รักจักจารทุกชาติไม่ขาดกันฯ

          บทกวีบทที่ 4 เป็นอิริยาบทละเอียดอ่อนของหัวใจที่คนรักพึงกระทำต่อคนรัก ดังที่กวีได้จินตนาการถ้อยคำว่า "อยากจูบแก้มสักวันละพันหน" เป็นความจริงที่ว่าคงไม่มีใครจูบแก้มใครได้ทุกวันวันละเป็นพันครั้งจนถึงวันตายในแต่ละชาติทุก
กัปกัลป์ ดังที่กวีรจนาไว้ในวรรคที่ติดตามมา แต่ในความรู้สึกซาบซึ้งต่อคุณความดีของความรักที่มีต่อกัน คนรักกันอาจรู้สึก
เช่นนั้นจริงๆ บางขณะของหัวใจอาจจะ "อยากจูบแก้มสักวันละพันหน" เสียด้วยซ้ำ

                    อาจมิใช่คนดีเป็นที่สุด                    แต่รัก "แก้ว" มากประดุจชีวิตเขา
               ตามช่วยเหลือคุ้มครองเหมือนดั่งเงา      จนรักเราเข้าประตูสู่นิพพานฯ

          ในบทกวีสุดท้าย ผู้เขียนถือว่าเป็นพันธกิจของหัวใจ เป็นอุดมคติแห่งรักที่ทุกคนควรจะก้าวไปให้ถึง  หน้าที่ที่หัวใจพึงผูกพัน คือ การรักคู่ครองใจประหนึ่งชีวิตของตน พร้อมช่วยเหลือคุ้มครองตลอดไปทุกภพทุกชาติจนกว่าจะต่างหมดกิเลสเข้าสู่พระนฤพาน เป็นพระอรหันต์หมดสิ้นภพชาติไปด้วยกัน(47)
          ตัวอย่างของความรักจากบทกวีทั้งห้าบทที่ผู้เขียนยกมา เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ความรักควรดำเนิน ในอิริยาบทการดำเนินของความรักของแต่ละผู้อาจแตกต่างกันในรายละเอียดแต่สิ่งที่มิอาจขาด คือความรัก ความเข้าใจ การให้อภัยกันได้ในทุกๆเรื่อง การไม่คิดร้าย ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้าย รวมถึงการไม่พูดถ้อยคำให้เจ็บช้ำน้ำใจ แม้ระคายใจก็ไม่ควร ภัยร้ายจากการ เวียนว่ายตายเกิด ทั้งความแก่ ความเจ็บ ความตาย ภัยจากคนที่ชั่วร้ายคิดเบียดเบียน ก่อกรรมทำชั่ว ก่อเวรภัยแก่เพื่อนมนุษย์ยังมีอยู่ดาษดื่นในสังคม ยังมากมีปลอมปนในชนชั้นตำแหน่งสถานภาพประชุมชน ไหนจะภัยพิบัติจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนที่รักกันร่วมชีวิตกันจึงไม่อาจปฏิเสธพันธหน้าที่ที่จะคุ้มครองปกป้องคนรักของตน ผู้ที่เชื่อว่าชีวิตมีเพียงชาตินี้ เพียงชาติเดียวจะทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด แต่ผู้ที่เชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดยังไม่รีบเข้าสู่นิพพานยังห่วงหาอาทรคนรัก
ดวงจิต หัวใจของเขาจะตามพิทักษ์รักษา ดูแลปรนนิบัติรับใช้คนที่เขาปักใจจนกว่าจะสิ้นชาติขาดจากวัฏสงสารสู่พระนิพพานไปด้วยกัน
          การได้พบคนรักในชาติต่อไป หากมองด้วยทัศนะทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยทั้งคู่จะต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีความตั้งใจเสมอกัน แต่มิใช่ว่าจะพบกัน ทุกชาติ เพราะเป็นเรื่องที่ยาก ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อต่างแตกตายทำลายขันธ์ในชาตินี้ ดวงจิตของแต่ละคน อาจจะไปสู่ภพภูมิที่ต่างกันตามอำนาจบุญบาปของแต่ละคน เช่น ตายในขณะที่จิตมีความโกรธจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก ตายในขณะที่จิตมีความโลภไปเกิดเป็นเปรต ตายในขณะที่จิตมีความหลงจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีเรื่องเล่าในทางพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง พระราชากับพระมเหสีเมืองหนึ่งต่างรักกันมาก มีความปรารถนาที่จะครองรักกันทุกชาติ ต่อมาพระมเหสีสิ้นพระชนม์ไปก่อน พระราชาทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้ทุกวัน ในขณะที่พระมเหสีไปเกิดเป็นกระบือเพศเมีย  ต่อมาพระอินทร์ไปถามกระบือเพศเมียตัวนั้นว่า  ยังระลึกถึงสามีของตนที่เป็นพระราชาอยู่หรือไม่ กระบือเพศเมียกลับตอบว่า ไม่คิดถึงตนคิดถึงแต่กระบือตัวผู้เท่านั้น อย่างไรก็ตามการอธิษฐานว่าขอให้ได้เกิดมาเป็นภรรยาสามีกันของคู่ที่มีศรัทธา ศีล ความตั้งใจ เสมอกันก็จะทำให้ทั้งคู่ได้พบกันในแต่ละชาติได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่ทุกชาติก็ตาม
          มีพระเถระบางรูปกล่าวว่า แม้จะต้องการพบกันเป็นคู่ครองทุกชาติไปก็ตาม แต่การตั้งใจ เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือการบรรลุพระนิพพานเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่า ดังนั้นไม่ต้องปรารถนาว่าจะพบกับใครเป็นการเฉพาะ แต่ให้ปรารถนาว่าให้เกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้น ผู้ใดเสมอกับเราด้วยศีล ก็จะได้พบกันครองคู่กัน
          วันเวลาในพระศาสนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันผ่านมาจนถึงบัดนี้ได้ 2,500ปีเศษแล้ว ในขณะที่หัวใจของผู้คนจำนวนมากหยาบกร้านด้วยอำนาจกิเลส รักแท้ดูเหมือนเป็นความฝัน ดูเหมือนคำพูดที่เป็นอุดมคติบนหอคอยงาช้าง แต่หากคู่รักคู่ใดก้าวดำเนินไปบน มรรคาแห่งรักแท้ เขาทั้งสองจะประจักษ์แจ้งในหัวใจว่าผู้ดำรงรักแท้เป็นผู้มีดอกรักแห่งธรรมเบ่งบานอยู่ในหัวใจทุกขณะแห่งรักที่ดำเนินไปด้วยกันกับคนรักเป็นก้าวย่างของการสั่งสมบุญบารมีเพื่อความหลุดพ้นจากกองกิเลสเข้าสู่พระนฤพานด้วยหัวใจแห่งรักแท้เป็นนิรันดร์

นิพนธิ์ เจิมจำนงค์ พนักงานคุมประพฤติชำนาญการพิเศษ กลุ่มสืบเสาะและพินิจ,วารสารกรมควบคุมประพฤติ(DEPARTMENT OF PROBATION):หน้า46-48

*กัปหรือกัลป์ หมายถึงระยะเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬประลัยครั้งหนึ่ง ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 โยชน์ ทุก 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะราบลงเสมอพื้นดิน กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น (เรียบเรียงจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฎก {ป.อ.ปยุตโต})

         

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรงเรียนสัตว์

การจัดการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะมีลักษณะคล้ายกับนิทานเรื่องสั้นเรื่อง  "โรงเรียนสัตว์ ธ้ำ ฤรทฟส ฆแนนส"  ซึ่งเนื้เรื่องมีอยู่ว่า
          ในกาลครั้งหนึ่ง   เหล่าฝูงสัตว์มีการตัดสินใจว่าจะต้อทำอะไรบางอย่างให้ดูเก่งกาจเพื่อเผชิญกับปัญหา "โลกยุคใหม่"จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเหล่าสัตว์ขึ้น และได้ตัดสินใจรับเอาหลักสูตรที่ประกอบด้วยวิชา การวิ่ง การปีน การว่ายน้ำ และการบิน
          เพื่อให้ง่ายต่อการจัดทำหลักสูตร  สัตว์ทั้งหลายได้ตกลงกันว่าต้องให้สัตว์ทุกตัวเรียนทุกวิชาเหมือนกัน
          เป็ดได้คะแนนยอดเยี่ยมในการว่ายน้ำ  และสามารถทำได้เก่งกว่าผู้สอนมาก  แต่ในวิชาการบินเป็ดสอบได้พอผ่านและได้คะแนนแย่มากในการวิ่ง  และเนื่องจากเป็ดวิ่งได้ช้ามาก  เป็ดเลยต้องอยู่ฝึกหัดการวิ่งหลังเลิกเรียนและต้องหยุดพักการเรียนว่ายน้ำ  เป็ดทำเช่นนี้จนแผ่นหนังที่นิ้วเท้าฉีกขาดและได้คะแนนการว่ายน้ำในระดับคะแนนเฉลี่ยเท่านั้น  แต่การได้คะแนนระดับเฉลี่ยนั้นเป็นที่ยอมรับในโรงเรียน  เลยไม่มีใครกังวลในเรื่องนี้  จะมีก็เพียงเจ้าเป็ด
          ส่วนเจ้ากระต่ายเริ่มต้นด้วยการเป็นนักเรียนในชั้นเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดในการวิ่ง  แต่เจียนจะเป็นโรคประสาทเพราะต้องซ่อมวิชาการว่ายน้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
          กระรอกเป็นนักเรียนยอดเยี่ยมในการปีนป่ายจนกระทั่งมาพบกับความล้มเหลวในการบินในชั้นเรียนซึ่งครูของกระรอกให้กระรอกเริ่มบินจากพื้นดินแทนการบินจากต้นไม้ลงพื้นดิน  กระรอกเกิดอาการกล้ามเนื้อระบมจากการพยายามจนสุดกำลังและได้คะแนนระดับ   C  ในวิชาการปีน  และได้ดีในวิชาการวิ่ง
          นกอินทรีถูกมองว่าเป็นเด็กมีปัญหาจึงถูกลงโทษทางวินัย  ในวิชาการปีนนกอินทรีทำได้ชนะตัวอื่นทุกตัวด้วยการดื้อดึงที่จะใช้วิธีการที่ตนเองถนัดในการไปถึงยังยอดไม้
          เมื่อสิ้นปีการศึกษา  ปลาไหลพิการที่สามารถว่ายน้ำได้อย่างยอดเยี่ยม  และวิ่ง  ปีน  บินได้เล็กน้อยได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดและได้เป็นผู้แทนนักเรียนในการกล่าวสุนทรพจน์วันปิดภาคเรียน
          เจ้าตัวตุ่นเข้าโรงเรียนไม่ได้  และต่อสู้กับการจัดเก็บภาษีเพราะฝ่ายบริหารไม่ยอมเพิ่มวิชาการขุดและการมุดรูไว้ในหลักสูตรเพื่อทำการฝึกลูกหลาน
          เรื่องโรงเรียนสัตว์ข้างต้น  ช่วยทำให้มองเห็นว่าการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ตอบสนองต่อความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน  และไม่ตอบสนองต่อวิธีการเรียนรู้เรื่องเดียวกันที่มีแตกต่างกันไป  ย่อมทำให้ไม่ส่งเสริมความสามารถหรือปัญญาที่แต่ละบุคคลมี
บุปผาชาติ  ทัฬหิกรณ์.  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอน : สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2552หน้า 16-17

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นจริง

การค้นพบความเป็นจริงของธรรมชาติในจักรวาลหรือความก้าวหน้าใดๆควรเริ่มต้นจากความเป็นจริงของธรรมชาติใน  "กาย"  และ  "จิต"  ของมนุษย์
การที่เราเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ชนิดใดๆย่อมต้องมีสาเหตุ อาจจะทำนองเดียวกับการเกิดขึ้นของเงาที่ย่อมต้องมี    วัตถุ    และ   แสง   เป็นองค์ประกอบแห่งสาเหตุการเกิดขึ้นของเงา  ฉะนั้นแท้จริงแล้ว "เงา" ไม่มีตัวตนเลย
มนุษย์ทั้งหลายควรมองดูตนเอง ทำความรู้จักกับตนเองที่ประกอบไปด้วย "ร่างกาย" และ "จิตใจ"ว่าตนเองเป็นผู้สร้างปัจจัยทั้งหลายให้ตนเองต้องเปลี่ยนไป ต้องไปรับทุกข์รับสุขซึ่งก็มิได้มีตัวตน เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วดับไป  เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่รู้ว่ากี่รอบไม่มีที่สิ้นสุด  ที่สำคัญ  ที่มองเห็นเป็นความสุขไม่เป็นความสุขที่ถาวรที่แท้จริงเลย
อิทธิพลของกิเลส ความโลภ ความอยาก ความชอบที่เรียกว่า ตัณหา และความโกรธ โทสะ ความเกลียด ความแค้น ความไม่ชอบของตัวเราเอง ของเหล่านี้ที่สะสมและถูกบันทึก ฝังลึก กลายเป็นพลังงานสะสมอยู่ในตัวเรา หรือในศาสนาพุทธเรียกว่า "เป็นกรรม" ของเราที่สร้างขึ้นไว้เองทั้งสิ้น
ชีวิตของเราจะเป็นไปอย่างไรจึงมิใช่เกิดจากผู้ใดมาดลบันดาลทั้งยังไม่มีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้นอกไปจากตัวเราเองเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้

มัชฌิมา กุญชร ณ อยุทธยา.ไม่เสียชาติเกิดในภพมนุษย์ปิติสุขเป็นของผู้ได้เห็น,หน้า 3-8

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาของการแนะแนว

การแนะแนวถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นระบบในสหรัฐอเมริกา โดยมีจุดเริ่มต้นจากการแนะแนวอาชีพ ในปี  ค.ศ. 1985
ผู้ที่ริเริ่มวางรากฐานการแนะแนวอย่างเป็นระบบจนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแนะแนวได้แก่  Frank  Parsons  จากจุดเริ่มต้นการแนะแนวอาชีพในสถานศึกษา
ต่อมาได้ขยายขอบข่ายมาสู่การแนะแนวการศึกษาโดย  Truman  L.Kelley  ได้บัญญัติศัพท์  การแนะแนวการศึกษาขึ้น
ในปี ค.ศ. 1914
และต่อมาในปี ค.ศ. 1920  william  M  Proctor  ได้เสนอแนวคิดว่า การแนะแนวควรมีขอบข่ายที่ครอบคลุมการแนะแนวการศึกษา การแนะแนวอาชีพ และการแนะแนวส่วนตัวและสังคม 
จากนั้นได้ขยายสู่ประเทศอื่นๆในแถบยุโรปและเอเชีย
 เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลด้านการแนะแนวจากประเทศสหรัฐอเมริกา
เริ่มการแนะแนวอย่างเป็นระบบในปี พ.ศ. 2496     ซึ่งกรมสามัญร่วมกับองค์การ    UNICEF    ได้จัดให้มีโครงการทดลองโรงเรียนมัธยมแบบประสมขึ้นที่  โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจัดให้มีห้องศึกษาสงเคราะห์ เพื่อให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกวิชาเรียนและ
ต่อมาได้มีการจัด   "กิจกรรมสำรวจ"  ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมสึกษาปีที่ 1-3 ในโครงการทดลองเรียนหลักสูตรมัธยมแบบประสม  เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในการเลือกวิชาเรียนตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจโดยใช้เวลา 1 คาบต่อสัปดาห์
ในทุกภาคเรียน
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการจัดบริการแนะแนวในคาบเรียน
ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นในพุทธศักราช 2521  และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายในปีพุทธศักราช 2524 ได้มีการกำหนดให้มีการจัดการแนะแนวไว้ในคาบเรียน
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544  จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งมีการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 
"กิจกรรมแนะแนว"  ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนซึ่งทุกสถานศึกษาจะต้องจัดให้แก่นักเรียน 

 (บุญประสิทธิ์  กนกสิงห์,2529; จุรี วาทิกทินกร,2534;  สมพิศ  แดงวัง,2537; นงลักษณ์  ประเสริฐ และจรินทร วินทะไชย์,2548; นิรันดร์ จุลทรัพย์,2551; กระทรวงศึกษาธิการ,2551อ้างใน แนะแนวชุดฝึกอบรม โครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ,2554)

คิดบวก

อาจารย์ปริญญา ตันสกุล  ได้ถ่ายทอดคลื่นความคิดจากจิตจักรวาลไว้ใน
หนังสือ  "วิทยาศาสตร์แห่งนิพพาน การหลงมิติแห่งจิต"

การได้รับโอกาสมาสู่รูปธรรมมนุษย์ของทุกจิตวิญญาณนั้นจะต้องมีหน้าที่สำคัญและต้องรับผิดชอบอยู่ 2 ด้านคือ
1.การกระทำเพื่อตนเองในมิติทางกายภาพ
2.การกระทำเพื่อจิตวิญญาณของตนในมิติคู่ขนาน
โดยสามารถแบ่งบทบาทโดยรวมออกได้เป็น  3  ประการคือ
     -การปฏิบัติจิต
     -การดูแลเครื่องยนต์แห่งกรรม คือร่างกายตนเอง
     -การพัฒนาสติปัญญาหรือการยกระดับจิตสำนึก
กล่าวโดยรวมคือถ้ามนุษย์ต้องการนิพพาน เพื่อดับการ  เกิด-ดับได้  มนุษย์จะต้องดับอารมณ์รู้สึกรายวันที่เป็นอารมณ์หยาบๆของตนให้ได้ทั้งหมดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้คงเหลือเพียงอารมณ์ด้านบวกคือ  ความรัก  หรือการให้  และการคิดบวก คิดดี เพื่อการทำดีเท่านั้น  การคิดดีคิดบวกเพื่อการทำดีในทุกเรื่องทุครั้งที่คิด ไม่ว่ากระทำเพื่อตนเองหรือสรรพสิ่งอื่นก็ตามโดยมีความรักสูงสุดคือการให้เป็นอารมณ์ของแก่นแท้เท่านั้น
การปฏิบัติจิตให้เลิกยึดติดตัวตน  หมายถึง การไม่มีเขา ไม่มีเรา
เป็นการให้โดยไม่ต้องมีใครร้องขอ
เป็นการให้โดยไม่มีผู้ใดบีบคั้น
เป็นการให้โดยธรรมชาติของตนเอง
มันคือความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของตนที่รูปธรรมพลังงานชั้นสูงทั่วสากลจักรวาลล้วนยินดีและสรรเสริญอย่างยิ่งและแน่นอนว่าจิตวิญญาณซึ่งเป้นแก่นแท้ของตนเองย่อมยินดีกับการแสดงพลังอำนาจแท้จริงอันบริสุทธิ์ในการมาสู่รูปธรรมมนุษย์ของเครื่องยนต์แห่งกรรม
ที่กล่าวมาทั้งหลายที่งปวงนี้ใช่           จิตสาธารณะ      หรือไม่